วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ข่าวสารประจำสัปดาห์ที่9

ประวัติความเป็นมาของโครงการสารานุกรมไทยฯ

1. สำหรับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารภกับอาจารย์ (ท่านประธาน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจนกระทั่งปี พ.ศ.2511 จึงมีคณะกรรมการเข้าเฝ้าที่วังสวนจิตรลดาเป็นครั้งแรก ต่อมาปี พ.ศ.2512 จึงมีการพิจารณาเรื่องการทำสารานุกรมไทยฯ เล่มตัวอย่างขึ้น

เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้มีสารานุกรมไทยที่คนไทยทำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้หาความรู้พื้นฐานในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ เป็นสามระดับด้วยกันคือ เด็กรุ่นเล็ก อ่านเข้าใจระดับหนึ่ง เด็กรุ่นกลางระดับหนึ่ง และเด็กรุ่นใหญ่รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้สนใจอีกระดับหนึ่ง การเขียนบทความแต่ละเรื่อง จึงได้เขียนขึ้นให้ได้ลักษณะที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนแต่ละรุ่น และพิมพ์ไว้โดยใช้อักษรขนาดต่างๆ กัน แต่ละเรื่องตั้งต้นด้วยเรื่องสำหรับเด็กรุ่นเล็กก่อน ถัดไปสำหรับเด็ก รุ่นกลางแล้วจึงเป็นเรื่องสำหรับระดับรุ่นใหญ่

ส่วนเรื่องทุนในการจัดทำหนังสือนี้ คณะไลออนส์แห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือจัดหาทุน โดยการถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้โครงการฯ นี้สำเร็จลุล่วงไปตามพระราชประสงค์

2. เมื่อเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ.2512 ก็ได้มีการเชิญคณาจารย์และผู้รู้ในสาขาวิชาต่างๆ 7 สาขาวิชาคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์และแพทยศาสตร์ มาเป็นกรรมการประสานงานเพื่อจัดทำสารานุกรมไทยฯ โดยมีการร่วมมือจากวิทยากรในสาขาวิชานั้นตลอดจนกรรมการฝ่ายต่างๆ อีกมากมาย เช่น ฝ่ายศิลป์, ฝ่ายภาษา, ฝ่ายการพิมพ์ เป็นต้น จนกระทั่งสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 1 ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2516 เป็นจำนวนหมื่นเล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนและห้องสมุดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรต่อไป ส่วนจำนวนที่เหลือก็ได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุด เน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย จัดทำโดยคนไทย เพื่อให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมีโอกาสได้อ่าน แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา เนื้อหาของวิชาต่างๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับ 3 ระดับความรู้ ได้แก่ เด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่สนใจทั่วไป แต่ละเรื่องเริ่มต้นด้วยเนื้อหาของระดับเด็กรุ่นเล็ก ตามด้วยเนื้อหาของรุ่นกลางและรุ่นใหญ่ตามลำดับ เนื้อหาในแต่ละระดับพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดต่างกัน


ที่มา รายละเอียด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น